สมุนไพร ยาพื้นบ้านที่คุณยังไม่รู้

3160
สมุนไพร cover

สมุนไพร ยาพื้นบ้านที่คุณยังไม่รู้

สมุนไพร ยาพื้นบ้าน ที่คุณยังไม่รู้! ว่ากันด้วยสมุนไพรได้ยินแบบนี้แล้ว ดูเป็นอะไรที่จะต้องเป็นยาพื้นบ้าน ที่คนสมัยก่อนจะนำสมุนไพรต่างๆเหล่านี้มาปรุงเป็นยา ที่มีรสขมๆ รสชาติที่ตอนเด็กๆทุกคนจะไม่ชอบเลย แต่ก็เต็มไปด้วยสรรพคุณต่างๆนานา ที่ใช้ประโยชน์และสามารถรักษาโรคได้ ถึงสมุนไพรที่เราคิดว่ามีรสชาติที่ขม เพื่อนๆทราบไหมคะว่าทุกวันที่เรารับประทานอาหารในแต่ละมื้อเข้าไปนั้น เราได้รับประทานสมุนไพรเหล่านี้ไปด้วย บางคนคงตกใจ!! แต่มันคือเรื่องจริงค่ะ เราลองไปดูกันดีกว่าค่ะว่ามีสมุนไพรอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

ผักหอมเป หรือผักชีฝรั่ง

ผักชีฝรั่งเป็นเป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในวงศ์เดียวกับผักชี ถือเป็นผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว โดยคุณค่าทางโภชนาการของผักชีฝรั่งนั้นก็มีมากมาย มีคุณค่าทางอาหารมาก สามารถกินใบสดๆหรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารได้ เช่น ต้ม ลาบ ก้อย ป่น เพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ส่วนคุณค่าทางยา จะได้วิตามินหลายชนิด เช่น วิตามิน ซี, บี 1, บี 2, ไนอาซีน และเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของการสร้างวิตามินเอนั่นเองค่ะ

ผักชีฝรั่ง

ตะไคร้

มีคุณค่ากับอาหารไทยมานาน เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารใส่ในต้มยำ แกงต่างๆ หรือจะหั่นฝอยใส่ยำ เพื่อเพิ่มรสชาติและดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ คุณค่าทางยาจะช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ บรรเทาอาการปวดท้อง ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้หัวนำมาคั่วไฟกินแก้ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในระยะแรกๆ แก้ปัสสาวะหยด และยังใช้ใบมาย่างไฟให้เหลือง แก้อาการปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ บรรเทาอาการร้อนใน ริมฝีปากแห้ง

สมุนไพร

สะระแหน่

เป็นพืชสมุนไพรยืนต้นตระกูลมินต์ วงศ์กะเพราะ มีแหล่งกำเนิดมาจากแถบยุโรปตอนใต้และแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 70-150 เซนติเมตร ส่วนใบจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับใบพืชในตระกูลมินต์ มีกลิ่นหอมคล้านใบมะนาว เป็นผักที่มีกลิ่นดี หอมเย็น เป็นผักที่สามารถกินได้แบบสดๆ วิตามินจึงไม่ลดลงไป นอกจากนั้นยังใช้โรยหน้าต้มยำ ลาบ ก้อย คุณค่าทางอาหารและทางยาให้ความสดชื่น ความคิดแจ่มใส ตากแห้งผสมกับใบชาชงเป็นชาหอมได้ มีเบต้า-แคโรทีน และวิตามินซีสูง

สมุนไพร

ผักขะแยง

เป็นผักพื้นบ้านอีสานที่มีลักษณะเป็นพืชล้มลุก มักขึ้นเองตามคันนา ลำต้นทั้งต้นจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสชาติเผ็ดร้อนแตกต่างกับผักชนิดอื่น และช่วยดับกลิ่นคาวและชูรสชาติของอาหารได้เป็นอย่างดี ผักมีกลิ่นรสหอมฉุน ใช้ปรุงรสอาหารโดยเฉพาะแก่งอ่อมกบ แกงหน่อไม้ คุณค่าทางยา คั้นน้ำจากต้นแก้ไข้ ทั้งต้นเป็นยาขับน้ำนม ขับลมและเป็นยาระบาย มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด

ผักขแยง

กะเพรา

ใช้ใบดอกประกอบอาหาร เพิ่มรสชาติ สรรพคุณทางยาบำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น โดยส่วนใหญ่จะนิยมนำไปทำเป็นเมนูผัดกะเพราเนื้อ กะเพราไก่ กะเพราหมู ใบกะเพราจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ด้วย ช่วยขับน้ำดีในตับออกมาให้ช่วยย่อยไขมันได้ดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น หากบอกว่า รับประทานกะเพราแล้วจะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ ก็คงไม่ผิดค่ะ

กระเพรา

ชะอม

ชะอม เป็นไม้พุ่มที่มีขนาดย่อม ลำต้นและกิ่งก้านจะมีหนามแหลม ส่วนลักษณะของใบชะอมเป็นใบสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบย่อยแตกออกจากแกนกลางใบ มีลักษณะคล้ายกับใบส้มป่อยหรือใบกระถิน ใบอ่อนจะมีกลิ่นฉุน ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร กินยอดอ่อนทั้งสดและลวก ยอดอ่อนแกงกับหน่อไม้ หรือทอดใส่ไข่จิ้มน้ำพริก คุณค่าทางยา แก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเสียวในลำไส้ มีเส้นใยอาหาร ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และมีเบต้า-แคโรทีนสูง รากใช้ฝนกับน้ำหรือเหล้าขาวแก้ขับลมในกระเพาะอาหาร ท้องอืดเฟ้อ

ชะอม

ข่า

เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ใช้ประกอบอาหารช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นเครื่องแกง อาหารไทยหลายชนิดใช้ข่าเป็นเครื่องปรุงหลัก เช่น ต้มข่าไก่ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน คุณค่าทางยาในเหง้าจะมีน้ำมันหอมระเหยต่างๆ ทำให้ช่วยขับลม ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเสมหะ ใบใช้ตำพอกหรือทาโรคผิวหนัง หิด กลาก เกลื้อน ถ้าหญิงคลอดลูกใหม่ๆ เลือดขัดให้ใช้หัวข่าสดมาบดผสมน้ำมะขามเปียกและเกลือแกง บีบคั้นเอาแต่น้ำ ประมาณชามแกงย่อมๆ ให้ดื่มจนหมด จะช่วยขับเลือดเสียและทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

ข่า

ขิง

เป็นพืชล้มลุก มีแง่งใต้ดินแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยและสารจากธรรมชาติ นิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวหวาน เช่น ไก่ผัดขิง ใบใช้กินกับซุปหน่อไม้ ส้มตำ หัวผสมกับกระชายทำน้ำยาขนมจีน หรือนำมาต้มทำน้ำขิงใส่น้ำตาล คุณค่าทางยา ช่วยระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัดคัดจมูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลม ช่วยบรรเทาอาการไอ และลดครอเลสเตอรอลได้ดีเลยค่ะ

ขิง

กระชายหรือโสมไทย

นิยมใช้แต่งรสชาติอาหาร เช่น แกงป่า ผัดเผ็ด แกงส้มเนื้อ น้ำยาขนมจีน ถือว่าเป็นเครื่องเทศอย่างหนึ่ง กระชายมี 3 ประเภท เช่น กระชายดำ กระชายแดง กระชายเหลือง ที่ใช้ประกอบอาหารคือ กระชายเหลือง คุณค่าทางยาเชื่อว่ามีสรรพคุณคล้ายโสมบำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เช่น กระชายดำ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันมากในปัจจุบัน อาจจะเรียกว่าโสมไทย จะมีน้ำมันหอมระเหยสรรพคุณดับกลิ่นคาว ทำให้กระเพาะลำไส้เคลื่อนไหวดี สรรพคุณทางยาของกระชาย ถ้าใช้หัวปรุงแก้อาการปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแตกแห้ง ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้บิดมูกเลือด บำรุงกำลัง และบำรุงน้ำดีค่ะ

เป็นไงบ้างค่ะ สำหรับเรื่องราวทั้งหมดนี้ ที่นำมาฝากเพื่อนๆ ได้ทราบถึงวิธีการใช้พืชผักสมุนไพรแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่เราใส่ใจต่อการรับประทานที่มีส่วนประกอบของพืชผักสมุนไพรเป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว นอกจากรับประทานพืชสมุนไพรแล้ว ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง อย่างที่คำไทยกล่าวไว้ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ดังนั้นเราควรป้องกันไว้ดีกว่ามาตามแก้ไขภายหลังนะคะ