สูตรทำแล้วรวย

สูตรขนมไทยที่ใครๆ ก็ทำได้ ขายได้ขายดี

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากฝึกฝนฝีมือการทำขนมไทย วันนี้เรามีสูตรความอร่อย พร้อมขั้นตอนการทำ ขนม มาฝากเพื่อนๆ ค่ะ หากฝึกบ่อยๆ ก็น่าจะช่วยได้ หลังจากที่ชำชองแล้ว ไม่แน่นะคะว่า คุณอาจจะได้เป็นแม่ค้าขายขนมไทยขึ้นชื่ออีกหนึ่งร้านก็ได้

สาระน่ารู้ : รู้เขารู้เรากับการทำอาหารขาย

ธุรกิจอาหาร เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถทำได้แม้จะเงินน้อย ยิ่งตอนนี้คนรุ่นใหม่อยากทำอาชีพอิสระก็มีไม่น้อย หันซ้ายหันขวาก็มาจบลงที่ว่าทำอาหารขายกันดีกว่า เอาจริงๆ แล้วการขายอาหารเป็นธุรกิจยอดนิยมในทศวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม จะพบว่าร้านอาหารที่เปิดขึ้นมากมายนั้น กลับล้มหายตายจากออกจากวงจรธุรกิจไปอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักคือ รายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดคิด ค่าใช้จ่ายสูง เงินทุนสำรองไม่เพียงพอ ในที่สุดจำเป็นต้องเลิกกิจการ เพราะขาดทุนมาก จนไม่สามารถประคองให้ธุรกิจอยู่ต่อได้ หากจะไปให้รอด Parpaikin จะมาบอกถึงหลักการที่ต้องคำนึงถึงก่อนมีธุรกิจขายอาหารค่ะ

สิ่งที่ควรคิดก่อนอันดับแรก ก็คือ “จะขายอาหารอะไร” การ ทำอาหารขาย จะขายได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระแสความต้องการของลูกค้าในช่วงนั้นๆ เป็นสำคัญ จะเอาแต่ใจตัวเองเป็นหลักไม่ได้ เราต้องดูกระแสความต้องการของลูกค้าด้วยว่า เวลานั้นความต้องการเป็นอย่างไร ต้องทำการสำรวจเพื่อให้พบกับความต้องการที่แท้จริง แต่ไม่ว่าคุณจะขายอาหารอะไรสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมี ก็คือ “จุดเด่น” เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านอื่นๆ จุดเด่นหรือจุดขายที่ว่าบางทีก็อาจจะมาจากการพัฒนาสูตรอาหารที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม หรือจะเป็นวิธีการนำเสนออาหารของคุณให้เด่นหรือแหวกแนวกว่าคนอื่นเพื่อสร้างจุดขายก็ได้ อาหารประเภทกินเล่นมักเป็นอาหารที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รองลงมาก็เป็นพวกขนมและเครื่องดื่มที่จะฮิตตามกระแส ของพวกนี้กำไรงาม หากจับความต้องการของลูกค้าได้ เงินไหลมาเทมาเชียวค่ะ

นอกจากคิดได้แล้วว่าจะทำอาหารอาหารอะไรขายแล้ว ก็ต้องนึกถึงทำเลเป็นสำคัญด้วย ควรเป็นสถานที่คนเห็นได้ง่าย มีคนพลุกพล่านสักนิด และที่สำคัญต้องมีที่จอดรถให้ลูกค้า สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรเรียนรู้และศึกษา หากไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้เลยก็ควรหาผู้รู้ที่เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา

เจ้าของธุรกิจจำนวนมากมักมองข้าม “การควบคุมต้นทุน” ธุรกิจอาหารอาจจะมีรายได้จากยอดขายสูงแต่ “ผลกำไร” อาจมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หากเผลอนำยอดขายไปใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุน ธุรกิจก็ไม่สามารถไปได้รอด สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การทำบัญชีรายรับ จ่าย ต้นทุนอาหารในแต่ละวัน หากไม่ทำบัญชีแล้วคุณจะไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ว่าตอนนี้คุณกำลังมีต้นทุนอาหารสูงกว่าราคาอาหารหรือไม่ อย่าลืมตั้งเงินเดือนของตัวเองในแต่ละเดือนไว้ด้วย เพราะหากไม่มีเงินเดือนหรือเงินค่าตัวของตัวคุณเอง ไม่แคล้วคุณต้องดึงเงินร้านมาใช้จ่ายระหว่างเดือนแน่นอน นี่แหละอาจเป็นจุดหักเหที่ทำให้ธุรกิจของคุณพังทลาย ไปไม่รอด

เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องคือ “การตั้งราคาอาหาร” หลังจากคิดต้นทุนอาหารแล้ว มาถึงการตั้งราคาอาหารแต่ละจาน โดยสูตรทั่วไปที่คิดกันจะใช้สูตร 2.5 คูณเข้าไปในต้นทุนต่อจาน เช่น ต้นทุน 50 บาท เอา 2.5 คูณก็จะได้เท่ากับ 125 บาท การคิดแบบนี้ถือว่า ได้รวมค่าจัดการ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าไปแล้ว และก่อนจะตั้งราคาเจ้าของร้านควรจะดูคู่แข่งด้วย ว่าในอาหารลักษณะเดียวกันร้านคู่แข่งตั้งราคาเท่าไร โดยลองนึกว่าตัวเองเป็นลูกค้าแล้วลองกำหนดราคาที่เหมาะสม ร้านอาหารเล็กๆ ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องการตั้งราคาอาหารมากนักเพราะทำเอง ขายเอง ที่ดินตัวเอง ทำให้สามารถขายได้ในราคากำไรไม่สูงมากนัก แต่พอร้านขยายขึ้นมา มีพนักงานมากขึ้น ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทำให้ต้องกลับมานั่งคิดถึงจุดคุ้มทุน ส่วนใหญ่ร้านอาหารมักคิดราคาขายเป็น 2 เท่าจากต้นทุนรวมเท่าที่ต้องการ ดังนั้น คิดกำไรให้ถึงจุดที่ว่า เอาต้นทุนรวมตั้งและคูณด้วยจำนวนที่ต้องการ

เมื่อคุณทำอาหารขาย คุณไม่ได้ขายแค่อาหาร แต่คุณยังขายบริการไปในเวลาเดียวกัน ดังนั้น คิดถึงเรื่องของ “กลยุทธ์การตลาด” ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ ควรจะมีลักษณะเด่นในด้านต่างๆ เช่น ความโดดเด่นที่แตกต่างจากคนอื่น อย่างเมนูที่มีเฉพาะที่ร้านคุณร้านเดียว หรือรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เหมือนใคร รสชาติอาหารก็ต้องอร่อยและคงที่ เทรนด์อาหารก็เป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้ ถ้าใครนำกระแส หรือจับกระแสได้ก่อน คนอื่นก็มักจะกลายเป็นผู้นำที่คว้าชิ้นปลาในตลาดไปก่อนใคร เป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องหูตากว้างไกลขยันหาประสบการณ์มาพัฒนาร้านของตัวเองให้น่าสนใจ และเป็นที่ประทับใจของลูกค้าด้วย

อย่างที่บอกว่าการขายอาหารจะมาคู่กับการบริการเสมอ เพราะฉะนั้น จะละเลยเรื่องการบริการไปไม่ได้เลย หลายร้านมีอาหารอร่อย โลเคชั่นดี แต่มาตกม้าตายกับการบริการที่ไม่ดีของลูกจ้างในร้าน ขอแนะนำว่าเจ้าของร้านควรมีการอบรมพนักงานเหมือนเป็นการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การหาพนักงานที่รักการบริการอาจจะหายากเหมือนงมเข็ม แต่อย่างน้อยหากเจ้าของร้านใส่ใจดูแล การนำเสนอบริการที่ดีให้กับลูกค้าก็ไม่ได้ลำบากจนเกินไป

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ และมีรายละเอียดมาก แต่จะช่วยสร้างให้เกิดความประทับใจต่อลูกค้าจึงต้องมีการสำรวจ เพื่อรู้ว่าตัวเองจะขายอาหารประเภทไหนดี ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า นิสัยและความชอบอาหารเป็นอย่างไร ชอบนั่งกินอาหารในร้านแบบไหน รสนิยมทางด้านอาหารเป็นอย่างไร ความคาดหวังเมื่อเข้าไปกินอาหารร้านนั้นเป็นอย่างไร คาดหวังว่าจะได้รับอะไรจากการบริการ เรื่องทุกเรื่องที่อาจดูเป็นเรื่องเล็ก หากเจ้าของร้านอาหารดูแลใส่ใจก็จะรู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อน เมื่อมีอะไรที่ต้องแก้ไขจะได้ทันเวลา ไม่แน่นะคะ แค่ความคิดเล่นๆ ที่จะ ทำอาหารขาย วันหนึ่งอาจจะกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เป็นอย่างดีก็ได้