บทความน่าอ่าน
เมนูอาหารเช้าต้องห้าม…ทำลายสุขภาพ
สาระน่ารู้ : มาทำความรู้จักความเป็นมาของขนมไทยกันดีกว่า
คุณรู้กันหรือไม่ว่า ขนมไทย ที่เรากินกันได้ตามท้องตลาดทั่วไปนั้น มีความเป็นมาอย่างไร และใครเป็นต้นกำเนิดของขนมแสนอร่อยเหล่านี้ จนทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นขนมชื่อคุ้นหู อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และอีกมากมาย แถมยังได้นำไปใช้ประกอบเป็นของหวาน ถวายพระ เลี้ยงแขก ในงานพิธีมงคลต่างๆ ได้อีกด้วย
ว่าด้วยเรื่องของ ขนมไทย นั้น มีความเป็นมาคู่กับเมืองไทยตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยในช่วงแรกของขนมไทยนั้น จะเป็นเพียงการนำข้าวสารไปโม่ พอได้แป้งแล้วนำมาผสมกับมะพร้าว หรือน้ำตาลเพื่อเอามาทำเป็นขนมเท่านั้น ซึ่งต่อมานั้นทางประเทศไทยได้มีการติดต่อทางการค้าขายกับชาวต่างชาติ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และสินค้ากัน จึงได้รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนการทำอาหารอีกด้วย ในช่วงนั้นถือได้ว่าวัฒนธรรมอาหารของชาวต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลกับอาหารไทยมากขึ้น และรวมทั้งเรื่องขนมด้วย
ในช่วงที่ขนมไทยมีความเฟื่องฟูที่สุด คงจะหนีไม่พ้นช่วงที่นางมารี กีมาร์ เดอปิน่า (ท้าวทองกีบม้า) ชาวโปรตุเกส ภริยาท่านทูต เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ในสมัยนั้น ซึ่งเธอได้เข้ารับราชการเป็น "หัวหน้าห้องเครื่องต้น" ทำหน้าที่เป็นต้นเครื่องขนมหวานในวัง โดยขนมในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ถือได้ว่ามีความนิยม และยังมีเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก นอกจากท้าวทองกีบม้าจะเป็นต้นเครื่องของหวานแล้ว ยังได้สอนให้สาวชาววังทำของหวานต่างๆ อีกด้วย ซึ่งจะอิงจากการทำขนมจากทางชาติโปรตุเกส ที่ได้นำไข่ขาว และไข่แดงมาเป็นส่วนผสมหลักในการทำขนมอีกด้วย ต่อมามีการเผยแพร่และสอนต่อกัน จนหลายคนต่างก็ยกย่องให้ท้าวทองกีบม้านั้นเป็นเสมือน "ราชินีขนมไทย" นั่นเองค่ะ
ถัดมาในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังได้ประพันธ์บทกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานไว้ถึงขนมชนิดต่างๆ ไว้มากมาย อาทิ ข้าวเหนียวสังขยา ขนมลำเจียก ขนมผิง ขนมรังไร ขนมช่อม่วง ขนมบัวลอย ฯลฯ และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการพิมพ์ตำราอาหารออกเผยแพร่ ซึ่งหนึ่งในเนื้อหาที่พิมพ์แจกนั้นก็มีเรื่องของขนมไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการจารึกในเรื่องการทำขนมไทย อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างมีระบบระเบียบในสมัยรัชกาลที่ 5 เลยทีเดียวค่ะ
เมื่อท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้ประพันธ์ตำราอาหารไทยเล่มแรกที่มีชื่อว่า แม่ครัวหัวป่าก์ ยังบรรจุรายการขนมหวานต่างๆ ที่ไว้สำหรับเลี้ยงพระ เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมหันตรา วุ้นผลมะปราง ข้าวเหนียวแก้ว ขนมลืมกลืน ฯลฯ บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นการบ่งบอกให้ทราบว่าคนไทยสมัยนั้น นิยมทำขนมไว้ใช้ในงานบุญ ซึ่งก็เป็นแบบแผนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยานั่นเอง นอกจากจะมีความวิจิตรงดงาม ละเอียดอ่อน แถมพิถีพิถันในการทำทุกขั้นตอนแล้ว ขนมไทยของเรานั้นยังมีรสชาติที่อร่อย และหอมกลิ่นอบควันเทียน ที่เป็นเสน่ห์ของตัวขนมแต่ละชนิดอีกด้วย และในปัจจุบันนี้ก็ยังมีขนมบางชนิดที่เราอาจหลงลืมไป หรืออาจจะได้ยากแล้วอย่าง ขนมเสน่ห์จันทร์ จ่ามุงกุฎ ขนมสัมปันนี หรือแม้แต่ขนมช่อม่วง ที่นานๆ ทีจะได้เห็นสักครั้งตามงานแต่ง หรืองานมงคลต่างๆ นั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ดีเราผู้ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ แต่ก็ยังมีความสนใจในเรื่องของ ขนมไทย ยังมีความรู้สึกที่อยากจะนำความรู้และประวัติที่เกี่ยวกับขนมไทยเหล่านี้ มาทำการบอกเล่าผ่านตัวอักษร และอยากให้เพื่อนๆ ที่มีความสนใจในเรื่องราวเดียวกันกับเรา ได้เข้ามาศึกษาเรื่องราวของคนที่เป็นต้นกำเนิดของขนมไทย ไปพร้อมๆ กับเราค่ะ ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราได้หยิบยกมาเพียงเท่านั้น หากอยากรู้จักเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับขนมให้เยอะกว่านี้ ครั้งหน้าเราจะพาทุกคนไปพบกับเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับขนมไทยกันอีกอย่างแน่นอนค่ะ