10 สุดยอดอาหารเสริม สร้างพัฒนาการเด็ก
อาหารเสริม ที่ลูกน้อยวัยหม่ำควรได้รับ จะต้องเป็นสารอาหารที่มีความหลากหลาย เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ และการเจริญเติบโตของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
เรื่อง “อาหารการกิน” เป็นสิ่งที่คุณแม่คงจะกังวลและใส่ใจกันไม่น้อยสำหรับเจ้าหนูที่กำลังเข้าสู่วัยหม่ำ ไม่รู้ว่าจะให้ลูกทานอาหารประเภทไหนดีถึงจะเหมาะสมกับวัยเจริญเติบโตของลูก ดังนั้น การเลือกอาหารจึงจำเป็นสำหรับเด็กวัยนี้มาก เพื่อเสริมสร้างเซลล์สมองให้เกิดการพัฒนาการได้อย่างเต็มที่ และได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ วันนี้ Parpaikin มีสุดยอดอาหารสำหรับเจ้าหนูวัยนี้มาฝากคุณแม่กันค่ะ
อาหารเสริม สำหรับเจ้าหนูวัยหม่ำ
1. ข้าว
ข้าวไทยจัดเป็นกลุ่มอาหารธัญพืชที่เหมาะสมสำหรับทารกมากที่สุด เพราะข้าวไทยมีโปรตีนชนิดที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้น้อยกว่าธัญพืชที่นิยมในประเทศแถบตะวันตก เช่น กลุ่มข้าวสาลี ฯลฯ ข้าวไทยมีหลากหลายชนิดให้เลือกรับประทาน ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวมันปู ข้าวเจ้าหอมนิล ข้าวกล้องงอก เป็นต้น
2. ไข่
เป็นอาหารที่วิเศษสำหรับเด็กๆ ที่คุณแม่หลายคนมองข้าม ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามิน และโปรตีน เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย โดยเฉพาะระบบโครงร่างกระดูก ควรเริ่มไข่แดงเมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือน ขึ้นไป และไข่ขาวเมื่ออายุ 12 เดือน ขึ้นไป เพราะเด็กเสี่ยงต่อการแพ้โปรตีนจากไข่ขาวได้
3. เนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์จัดว่าเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน แต่ควรเริ่มทีละน้อยๆ ให้เหมาะสมตามวัย เพราะเนื้อสัตว์บางชนิดย่อยยาก สำหรับเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายก็จะมีเนื้อปลาน้ำจืด เช่น ปลาทับทิม ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวายปลากราย ซึ่งคุณแม่หลายคนเริ่มให้อาหารประเภทนี้กับลูกน้อยก่อนอายุครบ 8 เดือน อันนี้ก็ไม่ผิดค่ะ แต่ควรสังเกตการขับถ่ายของลูกน้อยร่วมด้วย หากมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายให้งด และเริ่มเมื่อลูกน้อย 8 เดือน จะดีที่สุด
4. ผัก
อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ เริ่มต้นด้วยการนึ่งและบดผสมในอาหาร เพื่อเป็นการส่งเสริมการรับประทานผักให้ลูกเป็นนิสัย และรักการกินผัก เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักโขม ปวยเล้ง บ็อกชอย แครอท ฟักทอง ไชเท้า ฟักขาว แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว ถั่วแขก ถั่วฟักยาว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี มะรุม ยอดมะระ ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน เห็ด หัวหอมใหญ่ บล็อกโครี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น ควรเลือกผักออร์แกนิค ล้างด้วยเบคกิ้งโซดา หรือน้ำยาแช่ผัก รวมถึงล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ รอบ เพื่อเป็นการชะล้างสารพิษในผักนั่นเอง
5. พืชตระกูลถั่ว หรือเมล็ดธัญพืช
อาหารกลุ่มนี้อุดมไปด้วยโปรตีน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วชิกพี ถั่วสปลิท ลูกเดือย ควรเริ่มด้วยการบดก่อน และให้ทานอย่างระมัดระวัง แม้พืชตระกูลนี้มีโปรตีนมากมายก็จริง แต่สำหรับเด็กบางคนแล้วอาจจะแพ้ได้ง่าย หากคุณแม่พบว่าลูกของเราแพ้ธัญพืชอื่นๆ ก็ควรทดสอบก่อนเช่นกัน
6. ผลไม้
อโวคาโด และกล้วยน้ำว้าจัดเป็นอาหารท็อปฮิตแสนอร่อยของเด็กวัย 6 เดือน ขึ้นไป แต่ระวังเรื่องติดรสหวานจากกล้วยจนไม่ยอมรับประทานอาหารอย่างอื่น สำหรับผลไม้เนื้อแข็งควรเริ่มต้นด้วยการนึ่งและปั่น หรือบดละเอียดให้ลูกรับประทาน ถ้าลูกเริ่มมีฟันขึ้นคุณแม่สามารถเริ่มผลไม้เนื้อแข็งได้เลย อาจจะผสมผลไม้ดังกล่าวในอาหาร หรือให้เด็กรับประทานเป็นของว่าง เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ สาลี มะม่วงสุก แก้วมังกร เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงแคนตาลูป เพราะมักมีการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงค่อนข้างสูง
7. น้ำผลไม้
น้ำผลไม้สำหรับเด็กๆ ควรหลีกเลี่ยงชนิดสำเร็จรูป หรือน้ำผลไม้กระป๋อง ถึงจะเป็นน้ำผลไม้ 100% แต่ส่วนใหญ่มักมีส่วนผสมของสารกันบูด จึงไม่ปลอดภัยต่อเด็ก ดังนั้น คุณแม่ควรคั้นน้ำผลไม้เองสดๆ ให้ลูกดื่ม จะได้รับวิตามินที่มากกว่าค่ะ
8. ซุปผัก ซุปกระดูก
ซุปเป็นสุดยอดอาหารของเด็กทุกช่วงวัย เพื่อเป็นการป้องกันการขาดน้ำ หรือเด็กที่ดื่มน้ำน้อย ควรทำซุปให้รับประทานอย่างสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะได้รับวิตามินแล้ว ยังชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกายได้อีกด้วย
9. น้ำต้มสุก
น้ำต้มสุกไม่จำเป็นต้องอุ่น เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย คุณแม่ควรดูแลให้ลูกน้อยได้รับน้ำตลอดทั้งวัน แต่ไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำทีละมากๆ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะแต่บ่อยครั้ง เพื่อช่วยในกระบวนการเมตะบอลิซึม หรือการเผาผลาญของร่างกาย รวมถึงชะล้างสารพิษ และสร้างความสมดุลภายในร่างกาย
10. นมแม่
ในระยะที่ลูกน้อยได้รับอาหารเพิ่มเติมตามวัย และค่อยๆ กินอาหารทดแทนนมแม่ไปทีละมื้อนั้น มีความสำคัญมาก เพราะลูกยังไม่คุ้นกับอาหารใหม่ อาจกินได้ไม่เต็มที่ จึงแนะนำให้ลูกน้อยกินนมแม่ต่อจนอิ่ม เพื่อเป็นการเสริมต่อจากอาหารหลัก ดังนั้น คุณแม่จึงควรเอาใจใส่ในการให้อาหารของลูกน้อยในแต่ละวัยให้มากด้วยค่ะ
สำหรับอาหารเสริมที่แนะนำเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกมาปรุงให้เด็กๆ วัยเบบี๋ได้ลองชิมกัน แต่ก็มีอาหารบางชนิดที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องให้ความใส่ใจอยู่บ้าง เนื่องจากอาหารบางชนิดอาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ร่วมได้ ดังนั้น การให้อาหารกับลูกน้อยจึงต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการดูแลเอาใจใส่ทั้งกายและใจ เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยค่ะ
เรียบเรียงโดย : อันดามัน
เป็นผู้ที่หลงรักทะเลสีครามของอันดามันมีความหลงใหลในการท่องเที่ยว และมักเกิดอารมณ์สุนทรีชอบเขียนบทความต่างๆ จากประสบการณ์เที่ยวแต่ละครั้ง และยังมีความชื่นชอบเสาะหาร้านอร่อยมาเล่าสู่กันฟังด้วยนะ