แฟรนไชส์เปิดแล้วรวย
สาระน่ารู้ : ธุรกิจ แฟรนไชส์ ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย
ถ้าตอนนี้คุณเดินไปตามตลาดนัดแถวออฟฟิศ เชื่อว่าจะคุณจะเห็นร้านคุ้นหน้าคุ้นตาที่เคยเห็นมาจากตลาดอื่น หรือร้าน แฟรนไชส์ อย่างน้อยสักสองร้าน ในยุคที่ประชากรส่วนใหญ่หันเหชีวิตมาใช้ชีวิตอิสระ โดยการเปิดร้านค้าเล็กๆ หรือมีธุรกิจ SME เป็นของตัวเอง แฟรนไชส์อาหารการกินก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง ราคาค่าแฟรนไชส์ก็มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักล้าน แต่ในขณะเดียวกัน “การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ” หากสนใจที่จะลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์ คุณควรมีเคล็ดลับในการเลือก เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ท่ามกลางกระแสเศรฐกิจขาลงเช่นนี้
ข้อแรก คุณจะต้องมีความชอบความสนใจในธุรกิจนั้นๆ เพราะหากคุณไม่มีความชอบความสนใจต่อสิ่งนั้นจริงๆ แล้ว เมื่อเวลาประสบปัญหา คุณอาจจะท้อแท้ได้ง่ายๆ แต่ถ้าคุณมีความชอบความหลงใหลในสิ่งใดก็ตาม คุณก็จะมีความตั้งใจที่จะศึกษา และดำเนินธุรกิจอย่างมีความสุข แม้จะเจออุปสรรค คุณก็ยังพอมีแรงผลักให้หาทางออกจนเจอ
ข้อที่ 2 ต้องมีเป้าหมาย และตั้งงบประมาณในการลงทุนที่แน่นอน เพราะ แฟรนไชส์ แต่ละบริษัทมีราคาที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง และผลตอบแทน นอกจากเงินลงทุนค่าแฟรนไชส์แล้ว ต้องพิจารณาถึงเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละเดือนด้วย รวมไปถึงยอดขายที่จะต้องทำให้ได้ เพื่อให้ได้กำไร และถึงจุดคืนทุนโดยเร็ว
ข้อที่ 3 เลือกเจ้าของ หรือบริษัทแฟรนไชส์ให้เหมือนเลือกว่าที่ภรรยา การที่เราจะเลือกลงทุนใน แฟรนไชส์ใดสักเจ้าหนึ่งมาเป็นคู่ค้าที่จะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน ควรมีหลักในการเลือกแฟรนไชส์ โดยเริ่มพิจารณาจากเจ้าของแฟรนไชส์ โดยต้องเป็นเจ้าของหรือบริษัทที่มีประสบการณ์ในการทำแฟรนไชส์มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ขึ้นไป เพราะเขาเหล่านั้นจะรู้จุดแข็งจุดด้อยของผลิตภัณฑ์ตัวเองแล้วได้ผ่านการแก้ปัญหามาแล้วถึงยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ บริษัทแฟรนไชส์ที่ดีต้องมีระบบการทำงาน การตลาด การจัดการ การแก้ไขปัญหา พร้อมที่จะรับฟังและช่วยเหลือ มีการพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ วิสัยทัศน์ และความน่าเชื่อถือของ แบรนด์นั้นๆ เคล็ดลับที่อยากจะกระซิบบอก คือ คุณต้องเชื่อสัญชาตญาณของตัวเองบ้าง หากเมื่อคุณต้องเจรจากับเจ้าของแฟรนไชส์ที่ต้องการ แล้วคุณมีความรู้สึกไม่ถูกชะตา ไม่ถูกขี้หน้า ไม่ชอบวีธีที่คุย ดังนั้น ทำงานกับคนที่คุณชอบ และรู้สึกด้านบวกกับเขา ไม่เช่นนั้นต่อให้คุณชอบสินค้าของเขา ก็คงจะทำงานด้วยกันไม่ราบรื่นสักเท่าไร
ข้อที่ 4 ต้องลงสำรวจพื้นที่จริงของสาขาที่ขายดีติดอันดับของแบรนด์นั้นๆ ก่อนจะตัดสินใจลงทุนคุณต้องลงไปดูให้เห็นจริงว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ขายดีไหม สำรวจโดยไปในเวลาที่ขายดีที่สุดของสาขานั้นๆ และต้องไปในเวลาที่ขายได้น้อยที่สุดด้วย เพื่อพิจารณาความเสี่ยงให้ถี่ถ้วน หากเป็นไปได้ควรสอบถามถึงสถานที่ผลิตเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่ถูกส่งมาขายนั้นสะอาด นอกจากจะอร่อยแล้วจะต้องถูกหลักอนามัย สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และผลิตภัณฑ์ที่จะขาย อย่าลืมว่าก่อนที่คุณจะเสนอขายให้กับลูกค้า คุณต้องมีความรู้ในสิ่งที่จะขายเสียก่อน ไม่ใช่ว่าเปิดร้านนมขนมปังปิ้ง แต่กลับเป็นคนที่ไม่ชอบกินขนมปัง หรือไม่รู้เลยว่า ขนมปังปิ้งแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
ข้อที่ 5 ต้องมีระบบการดูแลหลังการขายที่ดี แน่นอนว่าธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่ต้องติดต่อกับเจ้าของแฟรนไชส์อยู่ตลอด เพราะจะต้องมีการซื้อ-ขายวัตถุดิบ การถ่ายทอดเทคนิคการขายเบื้องต้น และการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะทำการลงทุนแฟรนไชส์ใดๆ เราควรตั้งคำถามต่อเจ้าของแฟรนไชส์ไปเลยว่า หากเกิดปัญหาจะมีวิธีแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือเราอย่างไร ทางที่ดีควรจะลองไปคุยกับคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไป ดูว่าเขามีความรู้สึก หรือมีความคิดเห็นอย่างไร หลังจากที่ได้ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว
หากคุณตัดสินใจได้แล้วว่าอยากจะลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์บริษัทไหน ทีนี้ก็ต้องหันมามองตัวเองว่าคุณมีเงินทุนพร้อมหรือไม่ แล้วมีสถานที่ขายที่เหมาะกับอาหารประเภทนั้นหรือยัง ทักษะการขายคุณมีหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการขายด้วยตัวคุณเอง หรือจ้างคนมาขายแทน ต้องมั่นใจว่ามีทักษะการขายที่ดี มีไหวพริบ กล้าที่จะเชิญชวนลูกค้าเข้ามาพร้อมปิดการขายได้ ศึกษากฎกติกาในการเข้าร่วม แฟรนไชส์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน อ่าน และทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะการที่คุณลงทุนในแฟรนไชส์นั้น ๆ นั่นหมายถึง คุณต้องยอมรับกฏ กติกาของเขาด้วย เมื่อคุณได้คำตอบทั้งหมดแล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่การลงมือทำให้สำเร็จ โปรดจำไว้ว่าไม่มีสิ่งใดจะสำเร็จได้ หากไม่ลงมือทำ และต้องลงมือทำอย่างรอบคอบ และชาญฉลาดด้วย