รวมร้านเด็ด
คุณรู้หรือไม่ : 3 ย่านเก๋าตำนานอาหารอร่อย
กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิต และเชื้อชาติ เสน่ห์ความงามของวัดวาอาราม ยิ่งเรื่องอาหารการกินนั้นยิ่งแล้ว หากเกิดหิวกลางดึกก็แค่ขับรถออกไปในย่านที่มีอาหารขายตลอดคืน ซึ่งกระจายอยู่หลายที่ แค่นั้นก็อิ่มท้องนอนหลับได้แล้ว บอกเลยว่ามีแค่ไม่กี่ประเทศในโลกที่มีวัฒนธรรมการกินแบบเรานะคะ กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นครองแชมป์เมืองท่องเที่ยวมหานิยมอันดับต้นๆ ของเอเชียติดต่อกันมาหลายปี แล้วเราคนไทยจะพลาดได้อย่างไร Parpaikin จะขอนำทุกคนบุกตะลุย 3 ย่านเก๋าตำนาน อาหารอร่อย ของกรุงเทพฯ กันค่ะ เดี๋ยวคนต่างชาติมาถามแล้วจะตอบไม่ได้นา
ย่านแรกที่ทั้งคนไทยและต่างชาติชื่นชอบคือ เยาวราช ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเยาวราชขึ้นในปี พ.ศ. 2435-2443 ตั้งต้นจากบริเวณคลองโอ่งอ่าง ถึง วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร มีใครรู้ไหมคะว่า “เยาวราช” มีความหมายว่าอะไร คำว่า “เยาวราช” มีความหมายว่า “พระราชาที่ทรงพระเยาว์” หมายถึงรัชกาลที่ 5 ที่ขึ้นครองราชย์ เมื่อมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ต่อมาถนนสายนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็น “ไชน่าทาวน์” เมืองไทย นอกจากนั้นเยาวราช ยังถือเป็นบ้านหลังที่สองของคนจีนแห่งโพ้นทะเล และเป็นตำนานของคนจีนแห่งแดนสยาม ตระกูลดังหลายตระกูลก็มีต้นกำเนิดจากย่านนี้ อย่างตระกูล เทียม โชควัฒนา เจียรวนนท์ เตชะไพบูลย์ ล่ำซำ
ย่านนี้มีร้านรวงมากมายที่มีอายุเก่าแก่ เช่น ร้านลอดช่องสิงคโปร์ ที่ขายมากว่า 60 ปี ถือว่าเป็นร้านลอดช่องสิงคโปร์ร้านแรกของประเทศไทย เดิมทีชื่อว่า ร้านสิงคโปร์โภชนา เพราะในอดีตมีโรงหนังสิงคโปร์หรือโรงหนังเฉลิมบุรีอยุ่บนถนนเส้นนี้ แต่ต่อมาหลายคนมักเรียกสั้นๆ ว่า ร้านลอดช่องสิงคโปร์ ความอร่อยของร้านนี้คือ แป้งหนึบๆ ที่ในสมัยก่อนแป้งที่นำมาทำขนมจะนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ เวลากินตอนอากาศร้อนๆ หอมชื่นใจดีจริงๆ อีกร้านหนึ่งที่เก่าแก่ไม่แพ้กัน และตั้งอยู่ไม่ไกลกันมาก ...
ร้านคั้นกี่น้ำเต้าทอง ร้านนี้เปิดมา 100 กว่าปี ขายน้ำขม น้ำหวานแบบโบราณ หน้าร้านจะมีน้ำเต้าสีทองสองอัน อันหนึ่งบรรจุน้ำขม อันหนึ่งบรรจุน้ำหวาน ลูกค้าที่เข้ามากินจะเดินมาสั่งแล้วยืนดื่มกันหน้าร้านได้เลย หรือหากจะเดินไปบนนถนนเยาวราชก็จะมีอาหารลือชื่อมากมายไม่ว่าจะเป็นรังนกแท้ หูฉลามน้ำแดง บะหมี่เกี๊ยว หรือขนมหวานร้อนๆ แบบจีน อาหารอร่อยที่ย่านนี้มีเยอะมาก ใครสามารถตามล่าหาได้ครบนี่ถือว่าเป็นจ้าวยุทธภพกันเลยทีเดียว
ย่านต่อมาคือ ย่านพระนคร ย่านนี้เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งวัด ทั้งอารามหลวง แหล่งชุมชนที่มีชื่อเสียงในอดีต อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง ท่าน้ำเก่าแก่หลายแห่ง เรียกได้ว่าหากอยากจะย้อนอดีตแล้วละก็ ต้องมาเที่ยวที่ย่านพระนครนี่แหละค่ะ ในเมื่อเป็นย่านประวัติศาสตร์ขนาดนี้ก็ต้องมีอาหารอร่อยประจำย่านแน่นอน
หนึ่งร้านในตำนานที่ควรมาลองสักครั้งคือ ร้านกาแฟ ออน ล็อก หยุ่น ซึ่งเป็นร้านกาแฟรุ่นเก่าที่มีอายุอานามไม่ต่ำกว่า 80 ปี ถือเป็นร้านกาแฟร้านแรกๆ ที่มีขายอาหารเช้าแบบฝรั่งควบคู่กับกาแฟรสไทยๆ ทุกวันนี้โต๊ะเก้าอี้หากยังไม่ชำรุดมากจนเกินไป ทางร้านก็ยังคงความคลาสสิกไว้เช่นเดิม ในสมัยก่อนร้านกาแฟลักษณะนี้จะเป็นแหล่งรวมข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองที่ชาวบ้านมาแลกเปลี่ยนและสนทนากัน เรียกได้ว่าเป็นร้านคู่ชุมชนเลยค่ะ
ร้านที่คู่กับย่านนี้คือ ร้านมิตรโกหย่วน ร้านนี้มีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเริ่มจากเป็นร้านสไตล์อาหารไหหลำ จนปัจจุบันก็ยังมีอาหารแบบที่เรียกว่า ซีตูว์ซีเต๊ก (หรือสูตว์สเต๊กแบบจีน) คงเหลือให้ได้ลองชิมกันอยู่ หรือหากอยากชิมหมี่กรอบแบบรัชกาลที่ 5 ที่นี่ก็มีให้ชิมนะคะ
ย่านสุดท้ายนี้ก็มีประวัติยาวนานไม่แพ้กันนั่นคือ บางรัก แหล่งชุมชนชาวจีนขนาดย่อมอีกที่ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมอาหารอร่อย ทุกวันนี้ร้านรวงหน้าใหม่ยังไม่สามารถทำชื่อเสียงแซงร้านเก่าแต่เก๋าละแวกนี้ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น ร้านแสนยอดโภชนาที่มีชื่อมากเรื่องเป็ดย่างและตำรับอาหารจีนกวางตุ้งที่อร่อยแทบจะทุกเมนู เมนูราดหน้า และเมนูเส้นแบบกวางตุ้งที่หากินที่ไหนไม่ได้ก็ยังรสดีไม่เปลี่ยน
ต่อด้วยโจ๊กปริ๊นซ์ ตั้งอยู่ในซอยโรงหนังปริ๊นซ์ที่ฉายแต่หนังวับๆ แวมๆ ระดับล่าง โจ๊กร้านนี้เนื้อเนียน หมูปั้นก้อนลูกโต และกลิ่นไหม้ของโจ๊กที่หกลงบนเตา ถ้ายังไม่อิ่มก็ต่อด้วยข้าวขาหมูตรอกซุงที่เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คนก็ยังได้ ย่านนี้ไม่เพียงแต่มีอาหารอร่อยเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบอาหารจีนมากมาย หากอยากได้เครื่องปรุงแบบจีนๆ แต่ขี้เกียจเข้าไปถึงเยาวราชก็ต้องมาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวไหหลำ เฉาก๊วยแบบดั้งเดิม เก๊กฮวยจีน สมุนไพรจีน หรือส่วนประกอบไหว้เจ้าทั้งหลายก็สามารถหาได้ไม่ยาก
จะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ ชั้นในเป็นแหล่งรวมทั้ง อาหารอร่อย และเรื่องราวที่ส่งต่อกันมาจากยุคสู่ยุค แต่ละย่านที่เรานำเสนอยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายหลงเหลือมายังลูกหลาน หากไม่เก๋าไม่เด็ดจริงคงไม่สามารถรอดมาถึงยุคนี้ได้ หลายแห่งเป็นที่ที่ของใหม่เข้าไปแทรกได้ยากพอตัว หากมองให้ลึกลงไปก็จะเห็นว่าคำกล่าวที่ว่า “อาหารส่งต่อประวัติศาสตร์” คงไม่แคล้วเป็นเรื่องจริง